ประเทศไทยมีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับแรกในปี 2525 เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ยังไม่เห็นความพร้อมในการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งที่ประเทศ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีก 2 ปีข้างหน้าในปี 2564 ปัญหาที่ผ่านมาเรามีแต่แผนแต่ปฏิบัติการน้อย จึงอยากฝากให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด จัดเก็บข้อมูลสรุปผลจากการประชุมทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่ส่งถึงอธิบดี ผส.และปลัด พม.โดยเร็วที่สุดภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำมาบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการที่สมบูรณ์ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อการดูแลผู้สูงอายุให้มีความสุขมีศักดิ์ศรี ขณะเดียวกันตนจะร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยเฉพาะที่อยู่ในพรรคมาร่วมผลักดันแผนเสนอเป็นกฎหมายเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะมีการดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง
รมว.พม.กล่าวด้วยว่า สำหรับการผลักดันเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ได้ 1,000 บาทต่อเดือนนั้น ได้มีการหารือความเป็นไปได้พบถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณซึ่งจะต้องใช้ถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่วงเงินการจัดสรรเบี้ยในทุกกลุ่มเป้าหมายมีเพียง 80,000 ล้านบาท ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณารายละเอียดในการดูแลด้านอื่นๆให้เกิดความมั่นคงแทน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจ โดยเฉพาะที่ผ่านมารัฐบาลต้องดูแลปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องบริหารงบประมาณตามความจำเป็นและตามข้อจำกัดงบประมาณก่อน
ด้านนายไมตรี อินทุสุต กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนผู้สูงอายุประกอบด้วย 1.การกำหนดยุทธศาสตร์ ต้องมีเป้าหมาย มีตัวชี้วัด 2.มีกฎหมายรองรับ มีโครงสร้าง ระเบียบ/แนวทางและติดตามผลต่อเนื่อง 3.มีกลไกขับเคลื่อนที่สอดรับและมีประสิทธิภาพ 4.เปลี่ยนแปลงแผนสู่การปฏิบัติ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนระดับกระทรวงรวมถึงระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และ 5.ส่งเสริมการมีบทบาทของภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชน.